4 Tips for a Better Swimming Start

เทคนิค 4 ประการเพื่อพัฒนาการออกตัวให้ดีขึ้น

โดย Gary Mullen : Swimming Expert

http://swimming.about.com/od/swimworkoutsandskills/tp/4-Tips-for-a-Better-Swimming-Start.htm

แปลและเรียบเรียงโดย ณัฐพล ชวนะวานิชวุฒิ

บ่อยครั้งที่การออกตัวในกีฬาว่ายน้ำนั้นถูกประเมินว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ทั้งที่จริงๆแล้วในการแข่งขันว่ายน้ำนั้นประกอบไปด้วยการออกตัวถึง 30% อย่างเช่น ในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 50 เมตร ในหลายสโมสรมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการฝึกออกตัว โดยเฉพาะสโมสรที่มีนักกีฬาระดับสูงอายุ (Masters) และด้วยความที่เป็นกีฬากลางแจ้ง คุณลองจินตนาการดูละกันว่าจะเป็นอย่างไร หากเราไม่ได้ฝึกทักษะซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการแข่งขันถึง 30% ? ก็คงไม่ต่างจากการฝึกยิงลูกโทษในการแข่งขันกีฬาบาสเก็ตบอล ซึ่งการที่ไม่ได้ฝึกทักษะนี้ก็นำไปสู่ความผิดพลาดหลายๆครั้งในการออกตัว หากว่าคุณได้จับตามองสโมสรของคุณก็จะพบความผิดพลาดในเทคนิคการออกตัวจำนวนไม่น้อยเลย เริ่มตั้งแต่การตั้งท่าออกตัว วันนี้ผมมีเทคนิค 4 ประการเพื่อการออกตัวที่ดีขึ้น มาแนะนำกันครับ

'Good Luck Beijing' World Swimming China Open

  1. High Hips ยกสะโพกให้สูง

การยกสะโพกให้สูงนั้นคือกุญแจสำคัญในการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก (gluteal) ให้ได้ประโยชน์สูงสุด คุณอาจสงสัยว่ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกสำคัญอย่างไรในการออกตัว คำตอบง่ายๆ ก็คือ กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกนั้นคือกล้ามเนื้อที่ใหญที่สุดในร่างกายมนุษย์! การออกตัวโดยไม่ใช้กล้ามเนื้อ Glutes (ที่มีหน้าที่หลักในการยืดสะโพก) ก็เหมือนกับการว่ายฟรีสไตล์โดยไม่ใช้กล้ามเนื้อ Latissimus dorsi (กล้ามเนื้อด้านหลังบริเวณปีก) นั่นเอง! เมื่อขึ้นยืนบนแท่นออกตัว ให้พยายามรักษาตำแหน่งสะโพกให้สูงไว้ อีกเหตุผลที่ควรยกสะโพกให้สูงก็เพราะการวางสะโพกต่ำนั้นอาจจะเป็นการเพิ่มแรงกดให้กับหลังส่วนล่าง แม้ว่าแรงกดที่หลังส่วนล่างนี่จะไม่มากนัก แต่อาจจะเป็นแรงกดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้ และเหตุผลสุดท้ายคือ การยกสะโพกสูงบนแท่นออกตัวนั้นช่วยเรื่องของวิถีการเคลื่อนที่ คุณจะพบว่านักว่ายน้ำที่วางสะโพกต่ำจะกระโดดขึ้นข้างบน แต่ไม่ได้กระโดดไปข้างหน้า ลองคิดดูนะว่าว่ายน้ำเป็นกีฬาที่แข่งว่ายขึ้นไปแตะเพดานหรือว่ายไปแตะขอบสระ? ดังนั้นจงกระโดดไปข้างหน้า มิใช่กระโดดขึ้นข้างบน!

2012 U.S. Olympic Swimming Team Trials - Day 1

  1. Eyes Down มองลงไปข้างล่าง

นักว่ายน้ำหลายคนมักยกศีรษะขึ้นในจังหวะ “take your mark” ซึ่งตำแหน่งศีรษะที่ก้มลงนั้นจะช่วยสร้างแรงระเบิดจากแท่นออกตัวได้มากกว่า เพราะศีรษะจะช่วยนำร่างกายลงไปสู่สระได้ดีขึ้น ดังนั้นครั้งต่อไปที่ขึ้นแท่นออกตัวให้มองไปที่ขอบแท่นออกตัว จากนั้นเมื่อได้ยินสัญญาณปล่อยตัวก็ให้เหวี่ยงศีรษะไปข้างหน้า และเคลื่อนลำตัวไปข้างหน้า

18th Commonwealth Games - Day 6: Swimming

  1. Arms Loaded การวางแขนทั้งสองข้าง

นักว่ายน้ำหลายคนมักลืมเกี่ยวกับการกระจายแรงของแขนในช่วงออกตัว อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้กลับมีความสำคัญถึง 20% ของการออกตัว ดังนั้นตำแหน่งการวางแขน (loaded) คือการเตรียมร่างกายสำหรับการออกตัวอย่างแรง (explosive start) ตำแหน่งการวางแขนนั้นเริ่มจากการวางนิ้วมือ โดยให้ใช้นิ้วมือทั้ง 5 นิ้วโค้งจับบริเวณขอบด้านหน้าแท่นออกตัว โดยให้แน่ใจว่าแรงทั้งหมดที่คุณออกไปนั้นผลักเข้าหาแท่นออกตัว จากนั้นก็เป็นตำแหน่งของแขนและกล้ามเนื้อด้านหลังช่วงปีก โดยการวางตำแหน่งที่ดี ไม่เพียงจะช่วยให้แขนเริ่มทำงานได้ไว แต่ยังช่วยจัดระเบียบให้กับลำตัว เพื่อให้เกิดการสูญเสียพลังงานน้อยที่สุดในช่วงที่คุณพุ่งทะยานไปข้างหน้า

CAULKINS USA SWIMMING START

  1. Rear Foot Behind Hips เท้าหลังต้องอยู่เลยสะโพก

เป็นไปได้ที่ร่างกายคุณจะไม่สมดุลย์บนแท่นกระโดด โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ใช่นักว่ายน้ำที่คุ้นเคยกับเสียงและสภาพอากาศแบบต่างๆ ซึ่งนี่จะส่งผลให้เท้าคุณโคลงเคลง และวางเท้าได้แคบเกินไป โดยการวางเท้าแคบเกินไปจะทำให้เสียสมดุลย์ได้ง่าย และทำให้การสร้างแรงจากขาทั้งสองข้างนั้นถูกจำกัด ให้นึกว่าการออกตัวคล้ายกับการกระโดดในท่า squat jump และเพื่อให้การ squat jump ไปได้สูงสุด, คุณคิดว่าจะวางเท้าให้ชิดกันหรือวางเท้าให้กว้างประมาณช่วงไหล่ดี? จริงๆแล้วคุณควรวางให้กว้างประมาณช่วงไหล่ ซึ่งหลักการนี้ก็ถูกนำมาใช้เช่นเดียวกับการที่คุณแยกขาในจังหวะออกตัว โดยให้เว้นพื้นที่ระหว่างเท้าสองข้าง และจำให้ขึ้นใจว่าเท้าหลังจะต้องอยู่เลยสะโพกไป

การออกตัวนั้นเป็นเรื่องที่ปรับปรุงได้เร็วและง่ายสำหรับนักว่ายน้ำหลายๆคน แต่น่าเสียดายที่นักว่ายน้ำหลายๆคนไม่ได้ใส่ใจในการฝึกออกตัว จงหมั่นฝึกออกตัวทุกวัน และนำเทคนิค 1 ใน 4 ข้อนี้ไปฝึกซ้อม ในไม่ช้าคุณก็จะสามารถเหินจากแท่นออกตัวนำหน้าคู่แข่งของคุณได้!!

เอกสารอ้างอิง : 1. Mark, R. USA Swimming Coaches Education.

ความคิดเห็นของ Nutterfly

ในอดีตนั้นหลายคนมองข้ามการฝึกออกตัว เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่หากพิจารณาอัตราส่วนระยะทางแล้ว จะเห็นว่ายิ่งระยะทางสั้นการออกตัวก็ยิ่งมีความอัตราส่วนของระยะทางมากขึ้นเท่านั้น เช่น การว่ายระยะ 50 เมตรนั้น หากคิดว่านักว่ายน้ำออกตัวเป็นระยะ 15 เมตร ก็แสดงว่าการออกตัวคิดเป็น 30% ของระยะทางทั้งหมดเลยนะครับ สำหรับผม โค้ชของผมให้ความสำคัญกับการฝึกออกตัวไม่น้อยเลย ซึ่งการออกตัวนั้นมีส่วนประกอบในการฝึกหลายส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางลำตัว, การวางเท้า, การจัดระเบียบร่างกาย, แรงระเบิด (plyometric), ความไวในการตอบสนอง และสมาธิเป็นต้น ดังนั้นคุณควรฝึกออกตัวในทุกวันที่มีการฝึกซ้อมว่ายน้ำ โดยนำแต่ละเทคนิคค่อยๆฝึกไปจนกลายเป็นความเคยชินของสมองและร่างกาย

จะทำอย่างไรเมื่อการทำสถิติให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

obstacle to overcome

WHAT A SWIMMER DOES WHEN THE GOING GETS TOUGH

Courtesy of Josh Brown

ว่ายน้ำคือกีฬาที่รวมหลายสิ่งไว้ด้วยกัน – ไม่ว่าจะเป็นการที่เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปฝึกซ้อม, ไหนจะซ้อมจนดึกดื่น กลับถึงที่พักก็หมดเรี่ยวแรง และเตรียมหลับตานอนเพื่อเข้าสู่วงจรชีวิตแบบเดิมไปเรื่อยๆ แต่เราก็รู้ว่าสิ่งที่ทุ่มเททำไปนั้นไม่เสียเปล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่เราได้ใช้ชีวิตในสระว่ายน้ำไปนั้นจะสะท้อนคุณค่าออกมาอย่างชัดเจนเมื่อคุณแตะขอบสระและหันมาพบกับสถิติใหม่ของตนเองบน scoreboard!! ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้จะอยู่ในใจเราเสมอไป แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราพบว่าเราไม่สามารถทำในสิ่งที่หวังไว้ได้ แม้ว่าจะผ่านไปกี่สัปดาห์ กี่เดือน หรือทั้งฤดูกาลแล้วก็ตาม แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า “เราจะสามารถทำลายสถิติของตนเองหรือของคนอื่นได้อีกหรือไม่?”

1. CHECK YOURSELF

ให้ตรวจสอบชีวิตประจำวันนอกสระว่ายน้ำของตัวเอง ว่าดำเนินไปอย่างไร? ลองปรับจังหวะชีวิตให้ช้าลง เพื่อให้คุณรักษาระดับความใส่ใจต่อสิ่งที่สนใจได้ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถปรับปรุงคุณภาพของสิ่งนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับเพื่อน, การบ้าน หรือกิจกรรมและกีฬาอื่นๆ หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้คุณวอกแวก เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของคุณในสระว่ายน้ำ ถ้าหากคุณต้องการประสบความสำเร็จ ใน สระว่ายน้ำ คุณก็ต้องมั่นใจว่าประเด็นเล็กน้อยรอบตัวในชีวิตประจำวัน นอก สระว่ายน้ำ จะไม่ทำให้คุณเสียสมาธิกับการมุ่งมั่นในเป้าหมายที่ตั้งไว้

2. TEST YOURSELF

ถามตัวคุณว่าต้องการให้สถิติแย่แบบนี้หรือเปล่า? จะเป็นอย่างไรถ้าเกิดว่าคุณว่ายแบบผิดฟอร์มเพราะคุณหลงออกนอกเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ? บางทีอาจจะเป็นเพราะคุณพร่ำบอกตนเองว่า คุณแค่ว่ายไปงั้นๆ และก็ไม่ได้แคร์อะไรมากแล้วเกี่ยวกับการว่ายน้ำ ลองทดสอบตัวเองในจุดนี้ด้วย; ถ้าหากว่าคุณยังมีใจให้กับการว่ายน้ำ ก็ให้ปรึกษาและระบายกับโค้ชหรือเพื่อนร่วมทีมดูบ้าง

  • ลองเปลี่ยนจากการต่อรองลดระยะซ้อม เป็นการขอว่ายเพิ่มอีก 100 เมตรหลังเซ็ทหลักแม้ว่าโค้ชจะบอกคุณว่า “ไม่ต้องหรอก”
  • ลองเปลี่ยนตัวเองด้วยการไปเตรียมตัวให้พร้อมที่สระว่ายน้ำก่อนเวลาซ้อม
  • ลองขอซ้อมเพิ่มดูบ้างก็น่าสนใจนะ

3. TRUST YOURSELF

โค้ช, เพื่อนสนิทที่จริงใจ, และครอบครัวของคุณต่างอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคุณ และคุณก็ควรคิดเช่นนั้นด้วย!! จงมั่นใจในตนเอง พยายาม และเชื่อมั่นว่าไม่มีใครหรือสิ่งใดจะมาหยุดยั้งคุณไม่ให้บรรลุเป้าหมายลงได้ ด้วยการฝึกซ้อมนับชั่วโมงไม่ถ้วน – ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าตรู่ที่คุณต้องลุกจากเตียงมาลงซ้อมในสระ และกลางคืนที่คุณซ้อมจนหมดแรง และต้องหลับไปพร้อมกับความเหนื่อยล้า – ซึ่งเราต่างรู้ดีว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ที่ได้หล่อหลอมรวมกันในร่างกายเล็กๆของนักว่ายน้ำของคุณ จะตอบแทนคุณด้วยความสำเร็จ!

ขอบคุณข้อมูลจาก Swimswam.com

แปลและเรียบเรียงโดย Nutterfly

ความเห็น Nutterfly

นักว่ายน้ำทุกคนจะต้องมีช่วงที่เราพบกับคำว่า “ตื้อ” หรือช่วงเวลาที่เราฝึกซ้อมเท่าไหร่ สถิติก็ไม่ดีขึ้นเสียที ณ ช่วงเวลานี้อาจทำให้นักว่ายน้ำหลายคน ท้อและถอดใจไป แต่อย่าลืมว่า ช่วงเวลานี้แหละที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในใจให้คุณได้ เพราะถ้าเราเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ เราก็จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ทั้งในชีวิตนักว่ายน้ำ และการดำเนินชีวิตจริง

หากถามว่าในเวลานี้จะทำอย่างไรดี สำหรับตัวผมนั้น ใช้วิธีการระบายความวิตกกังวลกับครอบครัวและผู้ฝึกสอนครับ เพราะท่านเหล่านี้มีแต่ความหวังดีให้กับเรา และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้เราได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจงอย่าเก็บความรู้สึกหรือปัญหาไว้กับตนเองทั้งหมดนะครับ ควรหาผู้รับฟังและที่ปรึกษาด้วย เพราะบางครั้งปัญหาใหญ่สำหรับเรา อาจจะเป็นปัญหาเล็กนิดเดียวเมื่อคนภายนอกมองเข้ามา

ครูผมเคยสอนไว้ว่า “ความอดทนเป็นสิ่งขมขื่น แต่ผลของมันหวานชื่นเสมอ” ดังนั้นนักกีฬาทุกท่านจงพึงระลึกไว้เสมอนะครับว่า ถ้าเราอดทน พยายาม ฝึกซ้อมและก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ เราก็จะได้พบกับความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งกับตนเอง ครอบครัว และมิตรแท้ครับ

5 สิ่งควรทำ ในวันที่ผลการแข่งขันไม่เป็นไปดังหวัง

failure

5 THINGS TO DO AFTER A BAD RACE

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับนักว่ายน้ำ เราต่างฝึกซ้อมกันอย่างหนักเพื่อทำสถิติที่หวังไว้ให้ได้ คุณตื่นมาซ้อมแต่เช้า, คุณเชื่อฟังโค้ช, คุณเลือกใส่ชุดแข่งตัวเก่ง และคุณได้ทำการ shave ร่างกายอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด แต่เมื่อคุณแตะขอบสระและพบว่าสถิติที่ทำได้นั้นช่างน่าผิดหวัง นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณควรได้รับจาการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่  แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไปดีหละ? เราขอแนะนำ 5 สิ่งควรทำหลังการแข่งขันที่ไม่เป็นไปดังหวัง…..

  1. หายใจลึกๆ และเก็บการแข่งขันครั้งนี้เป็นช่วงเวลาดีๆครั้งหนึ่งในชีวิต

เริ่มจากหายใจลึกๆ และปล่อยให้ความสับสนทั้งหลายได้เคลื่อนที่ผ่านตัวคุณออกไป จากนั้นให้มองไปรอบๆ หากว่ามีผู้ร่วมแข่งขันยื่นมือมาแสดงความยินดี ก็ควรตอบสนองด้วยการยื่นมือตอบรับ แต่หากไม่มี ก็น่าจะดี หากว่าคุณเป็นฝ่ายเริ่มยื่นมือไปแสดงความยินดีกับผู้ร่วมแข่งขัน และไม่ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะสร้างความเจ็บช้ำให้คุณสักเพียงใด จงระลึกไว้ว่า ว่ายน้ำ คือ กีฬา ซึ่งในการแข่งขันนั้นเราควรให้เกียรติต่อการแข่งขันและผู้ร่วมแข่งขันด้วย

  1. เวลาดีๆกับช่วง COOL DOWN

แม้ว่าจะเป็นรายการสุดท้ายของคุณในการแข่งขันครั้งนี้แล้ว และคุณก็หมดอารมณ์ในการไป cool down แต่จงทำเถอะ เพราะในช่วงเวลานี้ไม่เพียงจะช่วยทำให้ร่างกายคุณฟื้นตัว แต่ยังทำให้คุณมีเวลาได้คิดทบทวน และคลายเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จงใช้ช่วงเวลานี้นึกย้อนถึงช่วงที่แข่งขัน และเลือกนึกถึงสิ่งที่คุณทำได้ดีในการแข่งขันสัก 1-2 อย่าง เช่น คุณกระโดดออกตัวได้ดีหรือไม่? / คุณว่ายเบี้ยว หรือเผลอหายใจตอนดึง stroke แรกหลังออกจากขอบสระหรือไม่? ลองนึกถึงสิ่งเหล่านี้ ให้นึกถึงในรายละเอียดจนครบถ้วนและจนกว่าชีพจรของคุณเริ่มต่ำลง

  1. ปรึกษาโค้ชของคุณ

ทำใจให้สบาย คิดบวก และเดินไปหาโค้ชของคุณ โค้ชจะช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแข่งขันของคุณ จงรับฟังทุกสิ่งที่โค้ชแนะนำ และพยายามแยกแยะระหว่างอารมณ์กับการปฏิบัติจริง ถ้าโค้ชคุณถามถึงความเห็นของคุณเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนี้ ให้มั่นใจว่าคุณได้ให้คำตอบที่ครบถ้วนทั้งข้อดีและข้อเสีย โค้ชหลายคนจะรู้สึกดีหากว่านักว่ายน้ำของตนนำความเห็นของตนเกี่ยวกับการแข่งขันมาปรึกษากับโค้ช อย่ากังวลไป! เป็นเรื่องปกติหากคุณจะรู้สึกเสียใจหรือน้อยใจในขณะที่กำลังคุยกับโค้ช มันเกิดขึ้นได้ และโค้ชก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลือ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า “บางครั้งมีเพียงเส้นบางๆที่แบ่งระหว่างสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควรทำ”

  1. มองไปที่เป้าหมาย

คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันที่เกิดขึ้นไปแล้ว และการที่มัวแต่เศร้าเสียใจ ใส่ใจกับอดีตนั้นก็มีเพียงแต่บั่นทอนพลังงานในการก้าวไปข้างหน้า ลองหาสิ่งที่จะช่วยให้คุณก้าวไปข้างหน้าได้

  • หากว่าคุณกำลังจะเข้าร่วมการแข่งขันในเร็วๆนี้ ให้ลองนึกถึงภาพวันแข่งขันและจินตนาการถึงความสำเร็จ
  • แต่หากว่าการแข่งขันครั้งต่อไปนั้นยังต้องรออีกหลายเดือน ให้คุณลองแข่งกับเพื่อนร่วมทีมดูสิ เช่น ลองจินตนาการระหว่างการฝึกซ้อมให้เป็นการแข่งขันประเภทบุคคล ซึ่งคุณจะสามารถจำลองการแข่งขันขึ้นมาได้นับครั้งไม่ถ้วน คุณจะมีทั้งช่วงที่ทำได้ดี ช่วงที่ทำได้แย่ เซ็ทฝึกที่เหมือนฝันร้าย และช่วงเวลาแห่งสุข ไม่มีสถานที่ใดที่สามารถสร้างพลังงานและพลังใจให้คุณได้ดีเท่ากับที่สระซ้อมประจำทีมของคุณหรอก ผมมั่นใจว่าคุณจะได้ทั้งสิ่งดีๆและยังได้ให้สิ่งดีๆแก่เพื่อนร่วมทีมด้วย หากว่าคุณต้องไปแข่งเพียงลำพัง และมีช่วงเวลาที่แย่ๆ ให้ลองหาสิ่งที่น่าสนใจ เช่น อ่านหนังสือ, ฟังเพลงโปรด หรืออ่านบทความล่าสุดที่ swimswam.com
  1. ก้าวต่อไปข้างหน้า MOVE FORWARD

หากว่าคุณมีรายการแข่งขันอื่นๆรออยู่ จงมุ่งไปที่รายการเหล่านั้น คิดไว้ว่า เสียงปล่อยตัวครั้งใหม่คือโอกาสอีกครั้งที่คุณจะได้สร้างความยิ่งใหญ่ หากว่าการแข่งขันจบลง ให้คุณวางแผนสำหรับก้าวต่อไปของการฝึกซ้อม ความล้มเหลวก็จะเป็นแค่ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าหากว่าคุณไม่เรียนรู้จากความล้มเหลวที่ผ่านมาและก้าวผ่านมันไปให้ได้ การแข่งขันที่แย่ครั้งหนึ่งมิได้กำหนดอนาคตการว่ายน้ำของคุณทั้งชีวิต  ให้คิดซะว่าเป็นเพียงเรื่องของตัวเลข และโอกาสในการได้ลับฝีมือ อาจจะทำใจไม่ง่ายนักแต่นี่คือเรื่องจริงของการแข่งขัน พึงระลึกไว้ว่า ทุกความสำเร็จนั้นสร้างขึ้นจากกิ่งก้านแห่งการเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา จงเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นอย่าปล่อยให้การแข่งขันที่ล้มเหลวเพียงครั้งเดียวมาปิดกั้นความสำเร็จในอนาคตของคุณ ในชีวิตเรานั้นมีผู้คนและสถานการณ์มากมายที่พร้อมจะแนะนำคุณว่าสิ่งใดไม่ควรทำ จงอย่าเป็นเพียงเสียงเล็กๆในคณะประสานเสียง เชื่อมั่นในตนเองและกลับมามุ่งมั่นในสิ่งที่คุณรัก ว่ายน้ำไง 🙂

ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.swimswam.com

แปลและเรียบเรียงโดย Nutterfly

ความเห็น Nutterfly
กีฬาทุกชนิด สอนให้เรารู้จักคำว่า “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ผู้แพ้ในวันนี้มิได้แพ้ไปตลอด หากแต่เราต้องมุ่งมั่นปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น โดยเรา “อย่าได้นำข้อผิดพลาดมาเป็นยาพิษบั่นทอนจิตใจ แต่จงใช้ข้อผิดพลาดเป็นครูสอนเรา” เพียงเท่านี้เราก็น่าจะผ่านพ้นความผิดหวังในการแข่งขันครั้งนั้นไปได้

เกร็ดเล็กน้อยสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ลูกหลานยังคงเพลิดเพลินกับการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ

swimming kids

แวะไปอ่านบทความ 4 Tips for Parents to Keep Your Swimmer in the Game เลยขอนำมาสรุปเผยแพร่ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะครับ

ท่านผู้ปกครองเคยตั้งคำถามแบบนี้เวลาไปเฝ้ารอลูกๆท่านซ้อมว่ายน้ำหรือไม่ครับ

“ทำไมใส่ใจแต่นักว่ายน้ำเก่งๆหละ ไม่มาเคี่ยวเข็ญนักว่ายน้ำรุ่นเล็กบ้าง?”

TIP ONE 
Young swimmers are important. They are the future of the team.

ระลึกไว้เสมอว่า นักว่ายน้ำเยาวชนในวันนี้ คือกำลังสำคัญในวันหน้า

*การสร้างนักกีฬา ก็คล้ายดั่งการปลูกต้นไม้ ต้องใช้เวลาเพื่อทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างยั่งยืน

TIP TWO
Kids who have fun keep swimming.

เด็กๆที่รู้สึกสนุกสนานจะยังคงว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง

*อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ ผู้ใหญ่อย่างเราก็เป็นครับ หากเรารู้สึกสนุกกับสิ่งใด ก็จะทำให้เราทำสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่อง

TIP THREE
The top swimmers may not have been the fastest or most talented when they were younger.

สุดยอดนักว่ายน้ำระดับชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักว่ายน้ำที่ว่ายเร็วที่สุดหรือมีความสามารถมากที่สุดในวัยเยาว์

*เก่งตอนเด็ก แต่ชื่อหายไปจากวงการว่ายน้ำทีมชาติ มีหลากหลายเหตุผลที่นักว่ายน้ำเก่งๆต้องเลิกราไปก่อนจะได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ในฐานะนักว่ายน้ำทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็น เรียนหนักไป ซ้อมหนักไป รู้สึกว่าถูกกดดันและคาดหวังจากคนรอบข้างมากเกินไป เบื่อ

TIP FOUR
Elite swimmers are amazing role models for the younger team members.

นักว่ายน้ำที่โด่งดังในทีม คือต้นแบบที่น่าตื่นตาสำหรับนักว่ายน้ำรุ่นน้อง

*ต้นแบบคือสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักว่ายน้าได้ รุ่นพี่เป็นตัวอย่างให้รุ่นน้อง นี่คือ ประเพณีอันดีงามที่สืบเนื่องกันมา

============================================================================

ขอบคุณครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัย และยินดีรับฟังคำแนะนำนะครับ

Nutterfly